วันเสาร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เส้นทางสู่นักการทูต อาชีพทางเลือกของคนจบนิติศาสตร์

*บทนำ*

ไม่รู้ว่าอยู่ในฐานะเป็นผู้แนะแนวได้หรือเปล่าเราก็ไม่แน่ใจแต่เราตั้งใจเขียนบันทึกชิ้นนี้ขึ้นเพื่อเผยแพร่ประสบการณ์ตรงในการสอบเข้าบรรจุรับราชการเป็นนักการทูตกระทรวงการต่างประเทศ ในขณะที่ยังจำสิ่งต่างๆ ได้ และเพื่อเป็นวิทยาทานกับเพื่อนๆและน้องๆ ที่สนใจสายอาชีพที่ถือว่าเป็นทางเลือกของคนที่เรียนจบนิติศาสตร์ ว่าการเรียนในคณะนี้ก็สามารถเป็นอาชีพต่างๆ ได้มากกว่าที่คิด ที่ใช้คำว่าอาชีพทางเลือกนั้นเนื่องจากสังเกตได้ว่าค่ายต่างๆทั้งกน. พรีแคมป์ ทั้ง กศป. ยังไม่เคยจัดการแนะแนวอาชีพนี้มาก่อนหรือกระทั่งตัวเองยังไม่ทราบว่าเรียนนิติศาสตร์แล้วสามารถเป็นนักการทูตได้จนกระทั่งจบปี3 แล้ว จึงคิดว่าหากทำบันทึกไว้จักเป็นประโยชน์ต่อหลายๆ คนในอนาคตเพื่อที่สามารถจะตัดสินใจและวางแผนชีวิตได้ในขณะที่ยังไม่สาย โดยจะแบ่งเป็น 3 ตอนคือ นักการทูตกับกฎหมาย การสอบ และการเตรียมตัวสอบเป็นนักการทูต

*นักการทูตเกี่ยวอะไรกับกฎหมาย*

สมัยก่อนเมื่อครั้งยังเด็กๆ เราก็เหมือนคนอื่นๆที่ตั้งใจจะเรียนกฎหมายเพราะอยากเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการ (เพราะรู้จักอยู่เพียงแค่นี้)และคิดว่าจะเป็นทูตได้ก็ต้องเรียนรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเท่านั้นแต่พอโตขึ้นก็พอจะรู้ว่าเรียนนิติศาสตร์ก็สามารถเป็นนักการทูตได้ด้วย ว่าแต่หลายคนคงสงสัยว่ามันเกี่ยวอะไรกันหละ?? ขอย้อนกลับไปเมื่อตอนปี 3 เราสนใจและชอบเรียนกฎหมายระหว่างประเทศแต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า กฎหมายระหว่างประเทศจะไปประกอบอาชีพอะไรได้ อาชีพอะไรที่ต้องใช้กฎหมายระหว่างประเทศโดยเฉพาะคดีเมือง ซึ่งตอนนั้นไม่เคยคิดถึงอาชีพนักการทูตเลย จนมามีคดีตีความปราสาทพระวิหารที่มีการถ่ายทอดไปทั่วประเทศณ ตอนนั้น ได้เห็นท่านทูตวีรชัย พลาศรัย ในโทรทัศน์ ได้ทราบว่าท่านเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์แล้วท่านได้ว่าความในศาลโลก (ICJ) ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราเคยทำจากกิจกรรมแข่งMoot Court ตอนปี 3 และปี 4  นั่นเอง ประกอบกับการที่เราได้ตัดสินใจสมัครเรียน Summer Course ที่  Hague Academy of International Law ที่กรุงเฮก จึงได้พบกับท่านทูตวีรชัยและได้เรียนรู้ถึงการทำงานของนักการทูตกับบทบาทการเป็นนักกฎหมายในการใช้กฎหมายระหว่างประเทศจึงเริ่มทราบว่ากระทรวงการต่างประเทศมีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายที่ดูเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศโดยตรง ทั้งการมีผลต่อกฎหมายภายใน การให้ความเห็นต่อร่างหรือสนธิสัญญาต่างๆ การให้สัตยาบันการอนุวัติการให้เป็นไปตามสนธิสัญญารวมถึงเรื่องการพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศในด้านต่างๆอีกทั้งยังสามารถมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศในการประชุมองค์การระหว่างประเทศหรือการเป็นอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และการเป็นคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ(ILC) ด้วย จึงเป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจที่อยากจะเป็นนักการทูตเพราะเป็นอาชีพหนึ่งที่ได้ใช้กฎหมายระหว่างประเทศโดยตรง ซึ่งนอกจากกรมสนธิสัญญาและกฎหมายแล้วกรมอื่นๆ ก็ยังต้องการนักกฎหมายเช่นเดียวกัน เช่นกรมอาเซียน กรมองค์การระหว่างประเทศ เป็นต้น เนื่องจากมุมมองด้านกฎหมายน่าจะเป็นประโยชน์ในหลายแง่มุมซึ่งช่วยสนับสนุนภารกิจของกระทรวงได้มากกว่าที่เราคิดเหมือนกัน

*การสอบบรรจุเข้ารับราชการตำแหน่งนักการทูต*

การจะสอบเป็นนักการทูต มีอยู่เพียง 2 วิธีเท่านั้น คือ
1.สอบชิงทุนกระทรวงการต่างประเทศตอนจบมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศ ( อันนี้คงจะสายไปเสียแล้ว) แต่บางปีก็อาจจะมีทุนสำหรับป.ตรีเพื่อต่อป.โทและ ป.เอกด้วยและ
2. สอบบรรจุเข้ารับราชการโดยใช้วุฒิปริญญาโดยบันทึกฉบับนี้จะเน้นการสอบในแบบที่ 2 ที่เราสอบเข้ามา

1.) วุฒิการศึกษาที่สามารถสอบได้
การสอบในแบบที่ 2 เป็นการสอบสำหรับผู้ที่มีวุฒิปริญญาตรี หรือ โท สาขาวิชารัฐศาสตร์  รัฐประศาสนศาสตร์ บริหารรัฐกิจ บริหารธุรกิจวิชาการจัดการ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ บัญชี ภาษา วรรณคดี ศิลปะ วัฒนธรรมประวัติศาสตร์ โบราณคดี ปรัชญา ศาสนา สังคมศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์หรือนิเทศศาสตร์ ก็สามารถมาสมัครได้ เรียกได้ว่าวิชาสังคมศาสตร์เกือบทั้งหมดก็สามารถมาสมัครได้เป็นการเปิดโอกาสที่กว้างมากๆ ดังนั้นในการเปิดสอบครั้งหนึ่งจึงมีคนมาสมัครจำนวนมากแต่อย่าได้กลัวไป เพราะจำนวนก็เป็นเพียงแค่ตัวเลขขู่ไว้เท่านั้น (วันสอบจริงคนอาจจะสละสิทธิ์ก็เป็นได้555) โดยจะจัดสอบรวมกันไปทั้ง ป.ตรีและโท เลยไม่แยกระดับการศึกษา

2.) การสอบทั้ง3 ภาค
การสอบเข้ารับราชการโดยทั่วไปจะมี  3 ภาคหรือ 3 ด่านด้วยกัน นั่นก็คือ ภาค ก. ภาคข. และ ภาค ค. (เขียนแค่นี้คงไม่รู้ซินะว่ามันคืออะไร) เรามาดูกันเลย

A. การสอบภาค ก. ความรู้ความสามารถทั่วไป กระทรวงการต่างประเทศจะมีลักษณะเฉพาะคือจะมีการเปิดภาค ก. ของตัวเอง ดังนั้นคนที่ผ่านภาค ก. ของก.พ. (ข้อสอบกลางในการรับราชการที่ออกโดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) มาแล้วไม่สามารถยื่นผลการสอบผ่านภาค ก. ของก.พ.เพื่อมาสอบภาค ข.กระทรวงการต่างประเทศเลยได้ (เหมาะมากๆ สำหรับคนที่ไม่ผ่านภาค ก. ของ ก.พ. แบบเรา 5555) โดยผู้สมัครทุกคนจะต้องสอบภาคก.ที่กระทรวงจัดขึ้นเองซึ่งภาค ก. ได้แก่ ความรู้รอบตัว(รอบโลก) 100 ข้อตอนเช้าและความรู้ภาษาอังกฤษอีก 100 ข้อตอนบ่ายโดยข้อสอบจะเป็นแบบ 4ตัวเลือก(Multiple Choices) ทั้งหมดผู้ที่สอบผ่านภาค ก. คือจะต้องมีคะแนน 60% ขึ้นไป(อันนี้น่าจะคิด 60% จากการเอา 2 พาร์ทมารวมกัน) ภาคก.จะประกาศเร็วมากเนื่องจากใช้คอมพิวเตอร์ตรวจทั้งหมด โดยผู้รอดชีวิตจากการสอบภาคก. คือประมาณ 400 คนซึ่งจะมาสู่การสอบภาค ข. หรือความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง อันหฤหรรษ์

B. การสอบภาค ข. ความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง
ในการสอบภาคนี้นี้ก็จะแบ่งเป็น 2 ตอนเช่นเดียวกันคือ

1. การทดสอบทักษะภาษาต่างประเทศ(เวลา 3 ชั่วโมง) โดยแบ่งเป็น4 ข้อดังนี้

1.1 เขียนเรียงความในหัวข้อที่กำหนด (40 คะแนน) :  มักจะเป็นหัวข้อสถานการณ์ปัจจุบันหรือเรื่องที่เป็นประเด็นที่น่าติดตามเช่นในปีนี้ให้เขียนเรื่อง As a Thai diplomat who is usually asked about the political situation, What will you say to foreigners when they ask “What does the future hold in Thailand?” ประมาณนี้ (จำหัวข้อเป๊ะๆไม่ได้) เราก็เขียนไปประมาณ 2 หน้าครึ่ง พูดอธิบายเหตุการณ์ปัจจุบัน พร้อมๆกับการโฆษณาประเทศไทยไปด้วยและพูดถึงอนาคต(โยงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการต่างประเทศของกระทรวงจะดีมาก)  หากใครไม่ถนัดภาษาอังกฤษในข้อนี้สามารถเขียนภาษาอื่นๆได้อีก 6 ภาษา (ภาษา UN)

1.2 ย่อความภาษาอังกฤษ(30 คะแนน) : อันนี้จะมีบทความให้ประมาณหน้าครึ่งถึงสองหน้าให้ย่อความโดยใช้ภาษาของตัวเอง ห้ามลอกประโยคหรือสำนวนในบทความมาอันนี้ไม่ต้องเขียนเยอะเพราะเป็นย่อความพยายามจับประเด็นหลักๆ ในแต่ละย่อหน้าไว้แล้วนำมาเขียนเรียบเรียงให้สวยงาม

1.3 แปลไทยเป็นอังกฤษ(15 คะแนน) : อันนี้จะมีเหมือนข่าวหรือบทความภาษาไทยโดยปกติแล้วจะประมาณ 1 หน้าขึ้นไปแต่ปีนี้ เหลือครึ่งหน้า จะทดสอบการใช้ศัพท์การต่างประเทศต่างๆ เช่น การประชุมรัฐมนตรีการต่างประเทศอาเซียน  = ASEAN Foreign Ministers Meeting เป็นต้น

1.4 แปลอังกฤษเป็นไทย(15 คะแนน) : ปีนี้ถือว่าเหวอมากๆกับการแปลคำสดุดีของสุลต่านบรูไนในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯครองราชย์ครบ ๖๐ ปี การแปลคำศัพท์อย่าง Your Majesty นี่ทำให้เราต้องไล่ลำดับจากใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทใต้ฝ่าพระบาท ฝ่าพระบาท พระองค์ท่าน ซึ่งตรงนี้เป็นความละเอียดอ่อนของภาษามากต้องดูจากบริบทในบทความให้ดีๆ พาร์ทนี้ใช้เวลาเยอะมากจนเกือบทำเรียงความไม่ทัน ( ซึ่งตามปกติควรเน้นข้อคะแนนเยอะๆ ไว้ก่อนเน้อ)

2. การทดสอบความรู้สำหรับนักการทูต(100 คะแนน) จะมี 4 ข้อคือ1. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (บังคับทำ) 2. องค์การระหว่างประเทศ3. เศรษฐกิจระหว่างประเทศ และ 4. กฎหมายระหว่างประเทศ  ข้อ 2-4 ให้เลือกทำเพียง2 ข้อ (อย่าทำมาหมดนะ) ซึ่งแน่นอนว่าเราเลือกทำ2 กับ 4 ดังนั้นข้อที่เราสอบจะมีดังนี้

2.1 ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ(40 คะแนน) : เป็นข้อที่เนื้อหากว้างมากๆ และเก็งยากมาก เพราะเราไม่ได้เรียนทางนี้มาอีกต่างหากมันก็มีหลักวิชาที่ต้องยึดเหมือนกันในทางรัฐศาสตร์ แต่ยังดีที่ส่วนมากจะเป็นคำถามปลายเปิดซึ่งต้องใช้ทักษะการชักแม่น้ำทั้ง5 โยงเข้าด้วยกันอย่างทั้งมวล (As a whole คุ้นๆมะ ทักษะแบบนี้นักกฎหมายจะถูกฝึกเฉพาะบางวิชาเท่านั้นเช่นนิติปรัชญา) แต่อย่าเขียนน้ำเยอะให้เอาเนื้อๆด้วย โดยในปีนี้ให้เขียนเรื่องนโยบายการต่างประเทศเชิงรุก ว่าเห็นด้วยหรือไม่ ควรมีทิศทางอย่างไร ซึ่ง ณขณะอยู่ในห้องสอบคือ เพิ่งเคยได้ยินคำว่า “นโยบายการต่างประเทศเชิงรุก” เป็นครั้งแรก ต้องยอมรับว่า ณจุดนั้นเขียนทุกอย่างเท่าที่นึกออก เอามาเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ และเรียบเรียงให้ดีๆตอนนั้นเราก็พูดถึงว่าไทยควรมีบทบาทอย่างไรในสังคมโลกนโยบายแบบนี้เอื้อประโยชน์อย่างไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไรและไทยได้แสดงถึงบทบาทเชิงรุกอย่างไรบ้างโดยมีการยกตัวอย่างที่เฉพาะเจาะจงลงไปเพื่อให้เห็นว่า ไม่ได้แค่รู้กว้างๆนะ เรายังรู้ลึกรู้จริงในบางส่วนด้วยโดยข้อนี้เขียนอธิบายไปสองหน้ากว่าๆ

2.2 องค์การระหว่างประเทศ(30 คะแนน) : ในปีนี้ถามเรื่องประเทศไทยกับการเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติโดยประเด็นนี้เป็นประเด็นที่กระทรวงการต่างประเทศให้ความสนใจมากๆ อยู่พอดีจึงเก็งได้ไม่ยากเท่าไร โดยถามว่า ไทยจะมีวิธีการรณรงค์หาเสียงอย่างไรและไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการเป็นสมาชิกไม่ถาวรของ UNSC นี้ เรื่องรณรงค์หาเสียงนี่ยากเลยเขียนตั้งแต่การทำการเมืองภายในให้เข้มแข็ง และการแสดงถึงบทบาทและความรับผิดชอบของประเทศไทยที่เราจะสามารถทำได้ต่อเวทีระหว่างประเทศทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก เราก็เขียนไปประมาณ สองหน้านิดๆ เช่นเดียวกัน

2.3 กฎหมายระหว่างประเทศ(30 คะแนน) : อันนี้สำหรับคนเรียนกฎหมายมาก็คงจะเลือกทำข้อนี้ ความรู้คดีเมืองได้ใช้แน่นอนในข้อนี้โดยปีนี้ประเด็นที่เป็นที่จับตามองก็คงจะหนีไม่พ้นคดีตีความคดีปราสาทพระวิหาร ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเพิ่งจะมีคำตัดสินโดยถามตรงๆ เลยว่า เนื้อหาสาระของคำพิพากษาที่คนไทยควรรู้มีว่าอย่างไรข้อนี้จะต้องทำให้ดีเพราะการเรียนกฎหมายอาจจะทำให้เราได้เปรียบในข้อนี้เพียงข้อเดียวก็เป็นได้เพราะเป็นข้อที่ใช้ศัพท์เทคนิคทางกฎหมายเยอะ เราก็ใช้วิธีการเขียนแบบมีวงเล็บภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสเพื่อความโดดเด่นนิดหน่อย( ดูในบันทึกที่เราเคยเขียนได้เรื่องสาระสำคัญของคดีจะเขียนในแนวนั้น)
การสอบภาค ข.เป็นการสอบทั้งวันที่ดูดพลังเยอะมาก ดังนั้นต้องเตรียมตัวให้ดีๆพักผ่อนให้เพียงพอ ลืมบอกไปว่าตอนที่ 2 ทีเป็นความรู้สำหรับนักการทูตสามารถเขียนตอบได้  7 ภาษาคือ ไทย อังกฤษ จีน อารบิค สเปน ฝรั่งเศส รัสเซียแต่สำหรับคนที่ไม่ได้เชี่ยวชาญในภาษานั้นจริงๆมีคำแนะนำว่าอย่าเขียนตอบโดยใช้ภาษานั้น ใช้ภาษาไทยให้สละสลวยจะดีที่สุดเพราะกระทรวงการต่างประเทศก็ต้องการคนใช้ภาษาไทยได้ดีเช่นกัน การเขียนภาษาต่างประเทศโดยที่เราไม่ได้เชี่ยวชาญไม่ได้ทำให้เราได้เปรียบแต่อย่างใดการเขียนภาษาอื่นจึงเหมาะสำหรับผู้ที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่ 2 หรือคุ้นเคยกับภาษาต่างประเทศมากกว่า
การตรวจภาค ข.จะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนเพราะเป็นการเขียนตอบล้วนๆต้องใช้เวลานานในการตรวจ การประกาศผลผู้ที่ได้คะแนนมากกว่า 60% ขึ้นไปจะได้ผ่านเข้าไปสู่การสอบภาค ค.ความเหมาะสมกับตำแหน่ง ซึ่งเป็นการสอบภาคสุดท้าย โดยในตอนนี้คนจะเหลือประมาณ 100 คน (ซึ่งนับว่าเยอะสำหรับปีนี้ที่รับประมาณ50-60 คน)

C. การสอบภาค ค. ความเหมาะสมกับตำแหน่ง  
ในการสอบภาคนี้ถือว่าเป็นภาคที่ตื่นเต้นมากที่สุด เพราะไม่รู้ว่าเราจะต้องเจออะไร แบบไหน ซึ่งโดยปกติแล้วจะต้องมีการเข้าค่ายที่ต่างจังหวัดเป็นเวลา3 วัน 2 คืน เพื่อดูพฤติกรรมและทดสอบผ่านกิจกรรมต่างๆ แต่ด้วยเหตุผลบางประการ ในปีนี้จึงมีการจัดสอบภาค ค. เพียงแค่ 2 วันที่กระทรวงการต่างประเทศโดยในวันแรก จะมีการทดสอบ 2 อย่างคือสัมภาษณ์เดี่ยว และ การพูดในที่ชุมชน (Public Speaking) (โดยตัดการอภิปรายกลุ่ม Group Discussion ออกไป) การเหลือการทดสอบแค่2 อย่างจึงทำให้มีการจัดคิวสัมภาษณ์อย่างแน่นมาก โดยจะใช้เวลาเพียงคนละ 10 นาทีเท่านั้น กรรมการคัดเลือกประกอบด้วยปลัดกระทรวงการต่างประเทศ อธิบดีกรมต่างๆ สื่อมวลชน อาจารย์มหาวิทยาลัย ฯลฯ (ในปีนี้มี 22 ท่าน) โดยเพื่อความโปร่งใสในการสอบคัดเลือก กรรมการจะไม่เปิดโอกาสให้เราแนะนำตัวแต่จะรู้จักเราผ่านป้ายหมายเลขที่ติดอยู่ที่หน้าอกเสื้อสูทเท่านั้น

1. สัมภาษณ์เดี่ยว : คำถามที่เราโดนถามในห้องสัมภาษณ์คือ1. มีการเตรียมตัวสอบอย่างไร 2. ด้วยความเป็นนักกฎหมาย คิดอย่างไรกับรัฐธรรมนูญมาตรา190  3. กฎหมายระหว่างประเทศกับกฎหมายภายในต่างกันอย่างไร 4. นอกจาก MLAT แล้วคุณคิดว่าควรจะมีความร่วมมือด้านกฎหมายอะไรอีกในอาเซียน 5. ทำงานอะไรบ้างที่กระทรวงยุติธรรม6. คิดอย่างไรกับการที่อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรมเดินหน้าปฏิรูปกับองค์กรอิสระ7. ปลัดกระทรวงยุติธรรมคนใดเคยเป็นนายกรัฐมนตรี(อันนี้เหวอมากคิดอะไรไม่ออกในห้องสัมภาษณ์ ออกมาค่อยร้องอ๋อ) ถ้าหากไม่ทราบก็ให้ตอบว่าไม่ทราบแต่ก็ควรมีการเสริมอย่างอื่นที่เรารู้ แต่กรณีที่ไม่สามารถไปต่อได้จริงๆ ก็ขออภัยคณะกรรมการไปตามระเบียบในข้อนี้และคำถามสุดท้ายเด็ดที่สุด 8. ภริยาทูตมีบทบาทสำคัญมากในปัจจุบันคุณคิดว่าคุณอยากได้ผู้หญิงแบบใดมาเป็นภริยาในอนาคต (ฮากันทั้งห้อง)  เมื่อถามคำถามเสร็จหมดแล้วท่านปลัดฯก็จะบอกให้เริ่ม Public Speaking ได้โดยใช้เวลา 3 นาที(มีการจับเวลาชูป้ายจริงๆ)

2. Public Speaking : ก่อนเข้าห้องสัมภาษณ์จะมีการเตรียมตัวประมาณ 5-10 นาที ให้เลือกหัวข้อและร่างในกระดาษแต่ไม่สามารถนำกระดาษที่เราร่างเข้าห้องสัมภาษณ์ได้ หัวข้อที่เราเลือกคือ As a Thai Ambassador in International meeting, what would you say about the political situation in Thailand? ซึ่งคล้ายๆกับหัวข้อของการสอบภาค ข. แต่หัวข้ออื่นๆ ที่ให้เลือกก็จะมี จุดแข็งของประเทศไทย การดำเนินนโยบายการต่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างไรบ้าง  คิดเห็นอย่างไรกับโลกไร้พรมแดน (Borderless) ในปัจจุบัน จุดอ่อนและจุดแข็งในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เป็นต้น  เมื่อโดนถามคำถามเสร็จแล้วเราก็จะลืมในสิ่งที่เราร่างไว้หน้าห้องโดยปริยาย ดังนั้น 3 นาทีสุดท้ายจึงต้องพยายามพูดในสิ่งที่มีอยู่ในหัวออกมาดีๆจำไว้ว่าทุกอย่างอยู่ในหัวเราอยู่แล้ว การเตรียมตัวมาอย่างดีจะทำให้ลดอาการตื่นตระหนกได้ ตอน 1 นาทีสุดท้ายให้หาทางจบให้สวยงาม เท่านั้นแหละเป็นอันจบการสอบในห้องสัมภาษณ์ (อย่างรวดเร็วมากๆ)

ในปีนี้ทางกระทรวงยังได้นัดผู้สมัครทุกคนที่ผ่านเข้ารอบมารับประทานอาหารร่วมกันกับปลัดกระทรวงและอธิบดีกรมต่างๆ รวมถึงพี่ๆนักการทูตที่กระทรวงการต่างประเทศในตอนเย็นวันถัดมาด้วยซึ่งก็มีการกินบุฟเฟต์และสนทนากันตามปกติตั้งแต่ 6 โมงเย็นจนถึง 4 ทุ่มเลิกงาน ถ่ายรูปและแยกย้าย อันเป็นการจบการสอบภาค ค. รอลุ้นผลในอีกไม่กี่วันถัดมา ซึ่งจะมีการเรียงลำดับคะแนนโดยรวมจากคะแนนการสอบทั้ง3 ภาค

*การเตรียมตัวสอบนักการทูต*

การสอบนักการทูต เป็นการสอบที่สามารถเตรียมการได้ หมายความว่าอย่างไรก็ตามแม้ไม่ได้เรียนความรู้ที่ต้องใช้มาโดยตรง แต่ทุกคนสามารถที่จะอ่านและทำความเข้าใจและเตรียมตัวเพื่อการสอบได้ ซึ่งเราจะแบ่งการเตรียมตัวสอบดังนี้

1. การเตรียมตัวสอบภาค ก.และภาค ข.
เราเตรียมสองภาคนี้รวมกันเลย เนื่องจากว่าถ้าหากเตรียมสอบแต่ภาคก.อย่างเดียว หากผ่านเข้ารอบไปแล้วจะเหลือเวลาเตรียมภาค ข.เพียงแค่ 1 สัปดาห์เท่านั้นซึ่งไม่ทันควรมีการเตรียมสอบทั้งสองภาคไปพร้อมๆ กันโดยเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่รู้ข่าวที่จะสมัครเลยประมาณเดือนพฤศจิกายนโดยอ่านหนังสือหลายเล่มด้วยกัน เช่น การทูตและการต่างประเทศของ ศ.ดร.อรุณ ภาณุพงศ์, กฎหมายระหว่างประเทศและการเมืองระหว่างประเทศ ของ อ.จันตรี, Introduction to International Relations เล่มเล็กๆ รวมถึงเว็บกระทรวงการต่างประเทศข่าวสารนิเทศย้อนหลัง วิทยุสราญรมย์ คลิปการเสวนาเกี่ยวกับการต่างประเทศต่างๆ ตรงนี้เพื่อเป็นการปูพื้นฐานในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่กว้างขึ้นจากกฎหมายระหว่างประเทศที่เรียนมา ในส่วนการหัดทำข้อสอบนั้น เราได้ข้อสอบเก่ามาจากเพื่อนซึ่งมีขายที่กระทรวงการต่างประเทศ กระนั้นแล้วเราก็ตะลุยทำโจทย์เลยโดยความรู้เริ่มจากไม่ถึง5% จริงๆ เจอข้อสอบตอนแรก เหวอมากๆ ทำความรู้รอบตัวแทบจะไม่ได้เลยมีแต่สิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อน แต่อย่างที่เรากล่าวไว้ มันเตรียมตัวได้! เราพยายามทำข้อสอบย้อนหลังทุกปีเท่าที่มีแล้วจัดกลุ่มข้อสอบเป็นแต่ละหัวข้อๆ เช่น การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เช่น BIMSTEC, ACMECS, APEC  สถิติที่สำคัญต่างๆ ของประเทศและโลก เช่นส่งออกมากที่สุด นำเข้ามากที่สุด นักท่องเที่ยวประเทศใดเยอะที่สุด วันสำคัญและเหตุการณ์สำคัญต่างๆ  บุคคลสำคัญของโลก ประวัติศาสตร์กฎหมายระหว่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งเราก็ได้มีการจัดทำเป็นชีทสรุปข้อมูลที่สำคัญหรือเก็งข้อมูลที่น่าจะออกสอบในปีนั้น 1-2 วันก่อนสอบ - -“ (เพราะจะต้องทำข้อมูลให้ทันสมัยเนื่องจากบางเรื่อง มีการเปลี่ยนแปลงทุกปี หรืออาจจะรายเดือน ป่าวหรอกที่จริงเพิ่งจะมาคิดทำสรุปสัปดาห์ก่อนสอบ5555) ส่วนภาค ข.ที่เตรียมไปพร้อมๆกัน นอกจากจะต้องอ่านบทความและข่าวต่างๆ แล้ว หัดเขียนเรียงความทั้งไทยทั้งอังกฤษ แบบแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ หัดแปลบทความทำให้คุ้นเคยกับศัพท์ในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งตรงนี้เราจดลิสต์คำศัพท์ที่ต้องเจอบ่อยๆ ใช้บ่อยๆ ไว้เลย เช่น collaboration, tackle, prosperity, enhance cooperation, development gap เป็นต้น โชคดีที่งานที่กองการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรมก็มีส่วนช่วยเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องมีการใช้ศัพท์แบบในข้อสอบตลอดเวลา จึงได้ฝึกเตรียมการสอบไปในตัวควบคู่กับการทำงานได้

2. การเตรียมตัวสอบภาคค.  
การเตรียมตัวสอบภาคนี้กว้างมากๆ  โดยหลังจากประกาศผลสอบภาค ข. ก็มีเวลาประมาณ 1 เดือนในการเตรียมตัวสอบภาค ค.อย่างแรกเลยคือขอคำแนะนำจากพี่ๆนักการทูตว่าจะต้องเจออะไรบ้างในการสอบภาคสุดท้ายนี้โดยเมื่อได้ข้อมูลและคำแนะนำมาแล้ว สิ่งที่เราทำทุกวันคือ 1. อ่านบทความภาษาอังกฤษเกี่ยวกับการต่างประเทศและสถานการณ์ปัจจุบันโดยอ่านจาก The Diplomat, The Economist, National Interest, Foreign Policy, Council of Foreign Relations เป็นต้น 2. ตั้งคำถามกับตัวเองในสิ่งที่กรรมการน่าจะถามและฝึกตอบเองทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ 3. ฟังข่าวภาษาอังกฤษ BBC, CNN, NPR อะไรก็ได้(อันนี้บางวันก็ไม่ได้ทำ แต่ต้องพยายามพูดบทความให้ตัวเองฟังเอง) และสิ่งที่ทำประจำสัปดาห์คือเขียนเรียงความเป็นภาษาอังกฤษ ในหัวข้อที่น่าจะโดน Public Speaking เช่น Challenges of ASEAN, of Thailand /Political Turmoil in Thailand / How to promote Thailand? เป็นต้น  โดยครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรม ฯลฯ โดยอาจจะดูจาก Speech เก่าๆที่มีอยู่ในเว็บกระทรวงมาเป็นตัวอย่างด้วย พอเขียนเสร็จก็หัดพูดจากที่เขียนนั่นแหละ โดยอาจจะอ่านก่อนให้เข้าปาก คุ้นกับเสียงคุ้นกับคำศัพท์ เสร็จแล้วก็พยายามไม่ดู และพยายามพูดให้เป็นธรรมชาติมากขึ้น (ราวกับเป็นเอกอัครราชทูตแล้วจริงๆ ) จะเห็นว่าการฝึกแบบนี้จะทำให้เราพัฒนาได้ทุกทักษะจริงๆทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน ซึ่งจะได้ใช้ในห้องสัมภาษณ์จริงๆ

การสอบบรรจุเข้ารับราชการเป็นนักการทูต กระทรวงการต่างประเทศครั้งนี้กินเวลานานถึง6 เดือนตั้งแต่เปิดรับสมัคร (ธันวาคม ถึงพฤษภาคม) ตอนที่เปิดรับสมัครยังคิดอยู่เลยว่าไม่น่าจะเปิดตอนนี้ เพราะตัวเองยังไม่พร้อม ภาษาก็ยังไม่ได้เก่งถึงขั้น แต่อย่างไรก็ตามการเอาชนะความไม่พร้อมต่างๆ ทำได้โดยการเตรียมตัวและความตั้งใจ  อย่าคิดว่าทำไม่ได้จนกว่าจะลองทำมัน เวลาเตรียมตัวมีน้อยนิดจึงต้องใช้เวลาที่มีอย่างคุ้มค่ามากที่สุดมีความอดทน และทุ่มเทกับมัน หากมีความฝันแล้วเราเชื่อว่าทุกคนสามารถทำตามความฝันของตัวเองได้ เพียงแต่อย่าย่อท้อต่อสิ่งต่างๆ ส่วนอาชีพนักการทูต จะมีเส้นทางชีวิตอย่างไรนั้น ต้องรอให้เราเข้าไปสัมผัสก่อนแล้วจะเขียนบันทึกให้ได้อ่านกันในโอกาสต่อไป หวังว่าบันทึกนี้จะเป็นประโยชน์ในการเตรียมตัวสอบเป็นนักการทูตไม่มากก็น้อย แล้วเจอกัน :D

ป.ล. หาก กน. หรือ ค่าย กศป.หรือ พรีแคมป์จะมีการแนะแนวอาชีพที่ใช้กฎหมายระหว่างประเทศ หรืออาชีพทางด้านการต่างประเทศก็สามารถติดต่อได้นะครับ (Hard Sale มากก) นักการทูตก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้อาชีพอื่นๆ เลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น