วันเสาร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

แนวทางการเรียน การเตรียมตัว สอบ นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์


บทความนี้มีเพื่อแนะนำผู้ที่ต้องการศึกษาต่อ คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็นหลัก หรือ น้องๆที่จะเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยคณะอื่นด้วยโดย นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ซึ่งเป็นเพียงตัวอย่างการเรียนและการใช้ชีวิตก่อนเข้ามหาวิทยาลัยและ ในมหาวิทยาลัยเพียงส่วนหนึ่งของผู้เขียน หากผิดพลาดประการใดขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

Part 1 ช่วง ม.ปลาย          

ก่อนอื่นสำหรับน้องๆนักเรียน ม. ปลาย ที่กำลังสนใจหรือกำลังคิดว่าจะเรียนคณะอะไรดี ก็อย่ากลัวไปก่อน หรือ คิดว่าตัวเองทำไม่ได้เพราะอะไรก็ไม่แน่เพียงแต่น้องๆจะต้องวางแผนให้ดีและมีระเบียบวินัยกับตนเองหน่อย  จากประสบการณ์ของพี่ที่เคยผ่านมา ขอกล่าวถึงตั้งแต่ช่วงม.5 –ม.6 ที่ตอนนั้นกำลังจะไปโครงการแลกเปลี่ยนต่างประเทศพึ่งสอบสัมภาษณ์ผ่านมาแต่กำลังตัดสินใจว่าจะไปดีหรือไม่ ใจนึงก็อยากไปแต่อีกใจก็เห็นว่าเป็นช่วงที่ใกล้สอบเข้ามหาลัยแล้ว กลัวกลับมาแล้วจะอ่านหนังสือสอบ ไม่ทัน(ไปตอนต้นม.6 กลับมาซ้ำชั้นม.6เดือนกรกฎาคม) สุดท้ายพี่ก็ตัดสินใจไปแต่เมื่อตัวเรากลัวมากๆกับการเข้ามหาลัยไม่ได้จึงคิดไว้ก่อนเลยว่าจริงๆแล้วอยากเรียนอะไร กลับมาจะสอบเข้าอะไรเพื่อตั้งเป้าหมายให้แน่นอนเพราะระหว่างที่อยู่ต่างประเทศก็จะได้เตรียมตัวอ่านหนังสือในวิชาที่พออ่านไว้ก่อนได้เช่น ภาษาอังกฤษ ซึ่งจะต้องใช้ทุกการสอบอยู่แล้ว พี่เป็นคนเรียนสายวิทย์แต่ไม่ชอบสายวิทย์มากๆเพราะไม่ชอบทั้งวิชา เลข ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ เรียกได้ว่ากว่าจะผ่านม.ปลายมาก็หนักหนาเอาการ จึงลองมาดูคณะสายศิลป์ เห็นว่าคณะนิติศาสตร์เป็นคณะที่เป็นสายอาชีพที่ชัดเจนทางหนึ่งเนื่องจากเรียนจบมาด้านการงานก็มีความมั่นคงและหลากหลายสามารถเข้าได้ทั้งราชการและเอกชน อยู่ได้ในทุกๆองค์กรอีกทั้งมีการเปิดสอบตรงซึ่งแทบจะไม่ต้องใช้วิชาสายวิทย์สอบเลย(มีความถนัดด้านคำนวณเล็กน้อย) และการสอบกลาง(แอดมิดชันในสมัยนั้น)ก็ใช้onet เพียงแค่วิชาไทย สังคม และอังกฤษ ส่วน Anet มีการเปิดสาขาวิชาภาษาให้เลือกสอบได้ด้วยหรือใครที่เรียนสายวิทย์มาจะใช้คะแนนวิทย์หรือเลขก็ได้แล้วแต่จะเลือก จึงตัดสินใจว่าเราจะเข้านิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็นเป้าหมายอันดับแรก
          
               หลังจากกลับมาจากโครงการแลกเปลี่ยนเดือนกรกฎาคม ตอนนั้นเพื่อนๆพี่ก็เข้ามหาลัยกันไปหมดแล้วมาเรียนกับรุ่นน้อง เมื่อกลับมาก็รีบปรับตัวแล้วหันมาตั้งใจกับการสอบตรงเข้านิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ที่จะมีการเปิดสอบในช่วงปลายปีถ้าจำไม่ผิดคือช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม  โดยตอนอยู่ต่างประเทศได้สมัครคอร์สเรียนสอบตรงนิติ มธ.ไว้ที่สถาบันแห่งหนึ่งย่านศาลาแดง  ซึ่งจะได้เรียนก็เดือนตุลาคมคือปิดเทอมเล็กเพราะพี่เป็นคนต่างจังหวัดด้วยเลยไม่ได้เรียนระหว่างเปิดเทอม ระหว่างนั้นจึงเน้นไปที่การทำข้อสอบกับทบทวนเนื้อหาวิชาไทย สังคม อังกฤษ เพื่อเตรียมตัวสอบโควตาสายศิลป์ของมหาลัยอื่นๆไปพลางๆก่อน พอถึงเดือนตุลาคมก็เรียนวิชาที่จะไปสอบตรงนิติ มธ.แล้วอ่านแต่วิชาพวกนั้นอย่างเดียวเลยตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงสอบ แต่เพื่อความไม่ประมาทเกิดสอบไม่ได้ขึ้นมาซึ่งจะประกาศผลปลายๆเดือนมกราคมเลยลงเรียนดาวองก์ของอ.ปิง คอร์ส intensive ไว้ก่อนเลยสำหรับแอดมิดชันเพราะเกิดสอบได้ขึ้นมาก็ไม่เสียหายอะไรแต่ถ้าสอบไม่ได้ก็จะได้อ่านไทย สังคม ต่อไปเลยช่วงเปิดภาคเรียนเทอม 2
          
              ปลายเดือนตุลาคมมีการเปิดสอบโควต้าของมหาวิทยาลัยนเรศวรซึ่งเพื่อนๆเกือบทั้งห้องสมัครสอบไปโดยเน้นที่แพทย์ ทันตะ เภสัชกร ส่วนพี่เลือกนิติศาสตร์ไปก็ปรากฎว่าสอบได้ตามที่เลือกไว้ แต่ก็สละสิทธิ์ไป(ตรงนี้สำคัญมากเพราะน้องๆบางคนมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้วเตรียมตัวมาดีแล้วแต่พอสอบได้ที่อื่นก่อน ผสมกับความกลัว ความขี้เกียจที่จะอ่านหนังสือต่อก็เลยเลือกไปโดยที่ไม่ได้เลือกมาเพราะความตั้งใจจริงๆ ก็ลองถามตัวเองให้ดีๆก่อนเพราะ เพื่อนพี่หลายคนที่เป็นแบบนี้สุดท้ายเรียนไปเทอมเดียว ปีเดียวก็รีไทร์ออกมาเพราะไม่ใช่อย่างที่ตัวเองตั้งใจไว้แต่แรก ) **ที่จะบอกก็คือ ทุกมหาวิทยาลัย ทุกคณะนั้นล้วนมีจุดประสงค์เพื่อให้นักศึกษาออกมามีความรู้ด้วยกันทั้งนั้นขอให้เราภาคภูมิใจในสถาบันของเรา และสิ่งที่เราชอบ แต่ที่บอกไว้ก็เพราะไม่อยากให้น้องๆถอดใจกับอะไรง่ายๆ ต้องไม่ย่อหย่อนหรือยอมแพ้ใจของเราเองทั้งที่ยังไม่ได้ทำถึงที่สุดเท่านั้นเองครับ
          
               ช่วงเดือนตุลาคม ถึงพฤศจิกายน จึงเน้นการอ่านเนื้อหาของสอบตรงทั้งหมดโดยที่ไม่ได้อ่านวิชาอื่นเลยเพราะถ้าสอบตรงติดก็มั่นใจว่าเอาแน่นอนไม่เปลี่ยนใจ แต่ระหว่างนั้นก็ตั้งใจเรียนดาวองก์ไปด้วยประกอบกับอ.ปิงสอนสนุกมากเลยเรียนไปไม่ค่อยเบื่อเท่าไรแต่กลับมาก็ไม่ค่อยได้ทบทวนเพราะอ่านแต่เนื้อหาสอบตรง
          
               สำหรับการสอบตรงถ้าจำไม่ผิดจะมีวิชา กฎหมาย วิชาภาษาอังกฤษ วิชาความถนัด และการเขียนเรียงความ น้องๆส่วนใหญ่ที่ไปติวมามักเน้นการอ่านที่กฎหมายเป็นหลักซึ่งพี่ก็ชอบเพราะมันเป็นโจทย์ที่อ่านๆไปก็สนุกดีมีเรื่องราวให้ติดตาม แต่ที่สำคัญจริงๆคือ ภาษาอังกฤษกับการเขียนเรียงความนะครับขอเน้น  เพราะ คะแนนวิชากฎหมายของน้องๆซึ่งจะเป็นข้อสอบchoice ส่วนใหญ่จะได้คะแนนเท่าๆกันไม่ทิ้งห่างกันมาก เพราะน้องๆก็พึ่งเรียนกฎหมายพร้อมๆกันและมักจะถูกโจทย์หลอกบ้างจำผิดบ้าง แต่ภาษาอังกฤษจะเป็นตัววัดที่สำคัญเพราะภาษาอังกฤษเราได้เรียนกันมาตั้งแต่ประถม คนที่เก่งภาษาอังกฤษจริงๆจึงจะได้เปรียบpartนี้มากๆ กับส่วนของเรียงความในเนื้อหาส่วนนี้โจทย์มักถามในเชิงแสดงความคิดเห็นบ้าง ข่าว เหตุการณ์บ้านเมืองบ้าง หรือถ้าน้องที่เรียนตามสถาบันติวสอบตรงมากพี่ๆติวเตอร์ก็มักจะให้หัวข้อมาฝึกเขียนไว้ อันนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของการใช้ถ้อยคำ การเรียบเรียงคำพูด ก็ฝึกฝนกันไว้ด้วยนะครับอย่าลืม
          
               พอผ่านฤดูกาลสอบตรงไปสอบเสร็จไปแล้วก็ต้องกลับมาเตรียมตัวแอดมิดชันทันที อย่ามัวรอผลการสอบตรงโดยที่ไม่ได้ทำอะไร เพราะเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของการอ่านแล้ว และกว่าผลจะประกาศก็ช่วงต้นปีหน้านู่น พี่จึงอ่านไทย สังคม อังกฤษ แล้วเน้นการทำข้อสอบย้อนหลังอย่างต่ำ 10 ปี ทั้ง 3 วิชานี้ แล้วดูคะแนนว่าแต่ละวิชาเราได้คะแนนประมาณเท่าไร อยู่ในช่วงไหน  เพราะเมื่อทำข้อสอบบ่อยๆเข้าบางปีโจทย์ก็จะออกซ้ำบ้างหลายข้อ ซึ่งเมื่อเราทำจนคุ้นเคยก็จะจำได้เอง ถ้าเคยผิดมาก็จะไม่ผิดซ้ำอีก เนื้อหาอ่านจากหนังสือที่เรียนอ.ปิงอย่างเดียวเลยทั้งวิชาไทยกับสังคมเพราะครอบคลุมมากๆ ส่วนภาษาอังกฤษบอกตามตรงเลยว่าไม่ได้อ่านเนื้อหาเลยแต่ทำข้อสอบอย่างเดียว(ไม่แนะนำเท่าไรเพราะ สุดท้ายคะแนนภาษาอังกฤษพี่ก็ออกมาน้อยที่สุดใน 3 วิชานี้ แต่ถ้าใครอ่านไม่ทันจริงๆก็แนะนำให้ทำข้อสอบเยอะๆเข้าไว้)
          
                ช่วงปลายๆปีก็สอบโควตาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปโดยเลือกนิติศาสตร์กับรัฐศาสตร์ก็ถือเป็นการทดสอบดูว่าวิชาที่เราอ่านไปพอทำได้ขนาดไหนในสนามสอบจริง ปรากฏว่า สอบไม่ได้! ซึ่งก็ไม่แปลกใจหรือตกใจอะไรมากเพราะตอนออกมาทำบางวิชาไม่ค่อยได้ จริงๆ แต่ก็ยอมรับว่าเสียกำลังใจไปเหมือนกัน (ตอนนั้นพี่เองก็เกิดอาการลังเลด้วยเหมือนกันว่าถ้าสอบติดเชียงใหม่ไปก็อาจจะเอาเลยอย่างที่เตือนน้องๆไว้ตอนต้น เพราะ ส่วนตัวแล้วพ่อแม่ พี่ชาย เรียนที่เชียงใหม่ และตอนนั้นไม่อยากไปเรียนที่กทม.ด้วยม.เชียงใหม่จึ่งค่อนข้างมีอิทธิพลในจิตใจพอสมควร 55) แต่พอสอบไม่ติดขึ้นมาก็ถือว่าทำให้เป้าหมายเรากลับมาชัดเจนอีกครั้ง  ต่อมาก็ไปสอบตรงที่ มศว.คณะรัฐศาสตร์ซึ่งไม่ได้ตั้งใจไว้แต่แรกแต่มีเพื่อนมาแนะนำให้สมัคร ปรากฏว่าสอบติดจึงเกิดอาการลังเลอีกรอบว่าจะเอาเลยดีมั้ย 55 จะได้ไม่ต้องอ่านหนังสือแล้วด้วยแต่ก็คงเป็นเรื่องดวงด้วยเพราะสุดท้ายวันสอบสัมภาษณ์ของมศว.ดันไปตรงกับวันเข้าค่าย รด.เลยต้องไปเข้าค่ายรด.เพราะขี้เกียจทำเรื่องกับทหารกลัวมีปัญหาจะไม่จบ รด.ปี3เอา
          
                 เมื่อถึงเวลาประกาศผลสอบตรงนิติ มธ.ตื่นเต้นมากเว็บล่มไม่รู้กี่รอบ รอๆๆๆๆใจจดใจจ่อเพื่อนที่มีเป้าหมายเดียวกันก็โทรคุยกันไปกันมา สุดท้ายผลออกมา “ไม่ติด” ตอนนั้นพอเปิดดูเสียใจมาก กลับไปเปิดดูผลอีกรอบว่าดูผิดรึเปล่า55 ทำอะไรไม่ถูกเลย เพื่อนบางคนก็สอบติดไปบางคนก็สอบไม่ติดเหมือนกัน สุดท้ายแล้วก็ต้องตั้งลำใหม่แน่วแน่แล้วว่ายังไงก็ต้องสอบแอดมิดชันแน่นอนก็อ่านไทย สังคม อังกฤษๆๆๆๆอย่างเดียวเลยจนถึงสอบแอดมิดชัน
          
                     วันสอบแอดมิดชันตื่นเต้นมากแต่ก็พยายามตั้งสติไว้แล้วคิดว่า ที่เราอ่านมาทั้งหมดก็เพื่อวันนี้ อย่างน้อยถึงจะตื่นเต้นก็ขอทำให้ดีที่สุด รอบคอบเข้าไว้ อย่าประมาทกับโจทย์ข้อไหนทั้งสิ้น วัดดวงไปกับไทย สังคม อังกฤษที่อ่านมา(พี่ไม่คิดจะเข้าสายวิทย์เลยแน่ๆ เพราะไม่อยากเจอ เลข ฟิสิกส์ เคมี ชีวะอีกแล้วเลยไม่ได้อ่านวิชาอื่นไปเลยก็เป็นข้อดีอีกข้อของการมีเป้าหมายที่ชัดเจน) พอสอบเสร็จเข้าจริงรู้สึกไม่ค่อยมั่นใจเลยซักวิชายิ่งพอมาตรวจสอบคำตอบกับตามเว็บต่างๆแล้วจะยิ่งรู้สึกไม่ค่อยมั่นใจอย่างแรงเพราะแต่ละคนจะตอบไม่ค่อยเหมือนกัน ส่วน anet พี่เลือกสอบวิชาภาษาเยอรมันไปเพราะดูคะแนนสูงสุดต่ำสุดของปีก่อนแล้ว สาขานี้ จะเป็นสาขาที่คะแนนต่ำที่สุดแล้วและเนื่องจากไปแลกเปลี่ยนที่เยอรมันมาด้วยเลยเลือกภาษานี้(สำหรับพี่ได้คะแนนไม่ดีเท่าไรบอกตามตรงคือไม่ถึง 50 คะแนน เพราะถึงแม้ไปเยอรมันมาแต่พี่ก็ไม่แน่นทางด้าน grammar ของเยอรมันเลยและไม่เคยเรียนภาษาเยอรมันมาก่อนด้วยก่อนไป เพราะเรียนสายวิทย์  ส่วนเพื่อนๆพี่ที่เรียนสายศิลป์เยอรมันมาก่อนนั้นได้คะแนนกัน 70-80 ก็มี ดังนั้นน้องๆที่ภาษาที่ 3 ไม่แน่นก็ไม่ต้องกลัวครับทำไว้ปานกลางๆดูส่วน%ที่เค้าจะให้คะแนนแล้วเน้นวิชาที่เราถนัด ถ้าคะแนนไทยสังคมอังกฤษทำไว้ดีก็ไม่ต้องห่วง เพราะขนาดเพื่อนพี่ไม่รู้ภาษาเยอรมันเลยเข้าไปมั่วได้มา 40 กว่าคะแนนก็ยังเข้ามา นิติ มธ.ได้ แต่คะแนนส่วนอื่นๆต้องทำได้บ้างนะครับ) ซึ่งสมัยนี้การสอบกลางคงเปน gat pat หมดแล้วพี่ก็ไม่ค่อยแน่ใจในระบบเท่าไรแต่ก็เล่าให้ฟังไว้เผื่อไว้เป็นแนวทางบ้างน่ะครับ ที่สำคัญถ้าน้องๆคนไหนที่มีเวลาเตรียมตัวดีๆก็ควรทำเกรดไว้บ้างเพราะเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งเลยนะครับ)
          
                 พอการสอบผ่านไปหมดแล้วก็ได้แต่รอผล ถ้าจำไม่ผิดก็เป็นเดือนเหมือนกัน หลังสอบแอดมิดชันก็ผ่อนคลายอย่างเต็มที่ไม่คิดจะสอบอะไรอีกแล้ว เชื่อว่าน้องๆหลายคนที่สอบออกมาก็ไม่มีใครฟันธงได้หรอกว่าได้ชัวร์ ถึงตอนทำข้อสอบจะมั่นใจมาก เพราะอารมณ์ ณ ตอนนั้นอะไรมันก็ไม่แน่จริงๆนะครับ สำหรับพี่ก็เครียดลึกๆแต่ก็ไม่มากกลัวแค่ว่าถ้าผิดพลาดอะไรไป จะไม่มีที่เรียนต่อเท่านั้น ระหว่างรอผลก็มักจะชอบใช้โปรแกรมคำนวณคะแนนตามเว็บสมมติคะแนนตัวเองเล่นๆตามความรู้สึกที่ทำได้ว่าจะออกมาประมาณไหน เลือกคณะอะไรได้บ้าง คะแนนถึงนิติ มธ.ไหม แล้วถ้าพลาดไปจะเลือกที่ไหนดีก็คิดเผื่อๆไว้บ้างก็ดีนะครับถึงแม้คะแนนที่ออกมาจริงๆจะไม่ตรงที่สมมติไว้ทีเดียวแต่ก็ทำให้เราได้คิดถึงทางเลือกอื่นๆไว้ด้วยเพื่อความไม่ประมาท เพราะถ้าจะไม่ผิดคะแนนประกาศออกมาก็ไม่ได้มีเวลามากมายที่จะเลือกคณะนะครับ สำหรับพี่เห็นว่าการเรียนคณะที่เราชอบเป็นสิ่งสำคัญกว่ามหาวิทยาลัยที่โด่งดังโชคดีที่ทางบ้านให้อิสระในการเลือกด้วย และก่อนหน้านี้ก็ตั้งเป้าที่นิติ มธ ไว้อย่างเดียวด้วยก็เลยลองมาคิดถึงคณะสายศิลป์อื่นๆดูเผื่อไว้
          
                 พอคะแนนประกาศออกมาครบหมดแล้ว ถ้าจำไม่ผิดคะแนนนิติศาสตร์ มธ.  เลือกสอบโดยใช้ภาษาเยอรมันคะแนนต่ำสุดของปีก่อนพี่สอบ(51)คือ 7100กว่าๆ แต่คะแนนรวมของพี่ได้ 7008 ซึ่งขาดไปเป็นสิบคะแนนถ้าเทียบของสถิติปีก่อนหน้านี้ แต่เมื่อคะแนนขาดนิดเดียวเท่านี้แน่นอนว่าต้องเลือกไว้อันดับ 1 อยู่แล้ว
อันดับ2 เลือก สถาปัตย์ ธรรมศาสตร์ (สมัยนั้น ใช้แค่ onet 5 วิชา โดยไม่มีความถนัดทางสถาปัตย์และไม่ต้องใช้ anet เลย แล้วคะแนนเกินมามากเมื่อเทียบสถิติของปีก่อน)
อันดับ3 มนุษย์ศาสตร์ สาขา เยอรมัน เกษตรศาสตร์
อันดับ 4 นิติศาสตร์ เชียงใหม่
            สิ่งสำคัญของการเลือกอันดับก็คือ บางคณะคะแนนเราอาจจะไม่ถึงก็จริงแต่ขาดไปไม่มาก เช่น ขาดไปไม่ถึงขนาดเป็น 1000 คะแนน (ไม่รู้gat pat ใช้rateคิดคะแนนอย่างไร)ก็ควรลองเสี่ยงเลือกไว้อันดับ 1 ไว้ก่อนโดยสำหรับพี่แล้วมีเกณฑ์การเลือกดังนี้
อันดับ 1 เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ +(ถ้าคะแนนไม่ถึง ก็เลือกไว้เสี่ยงดวงเลย)
อันดับ 2  คณะที่อยากเรียนรองลงมา + ถ้าพลาดอันดับแรกก็สามารถเรียนจนจบได้ + คะแนนควรจะเกินสถิติของปีก่อนหรือ เกือบถึงมากๆๆ
อันดับ 3 คณะที่ปานกลางพอเรียนได้ เฉยๆหรืออยากเรียน + คะแนนเกินสถิติของปีก่อนหลายๆร้อยหน่อย
อันดับ 4 คณะที่ปานกลางพอเรียนได้ เฉยๆ หรืออยากเรียน+ คะแนนเกินมาอาจจะถึง พันคะแนน คือ เอาเป็นว่าเกินสูงสุดของปีก่อนก็จะดีมาก แบบว่าติดชัวร์ยังไงก็ไม่หลุดอันดับสุดท้าย
            ที่สำคัญ คือ เลือกคณะที่เราชอบไม่ใช่เลือกมหาวิทยาลัยที่โด่งดัง เพราะเราจะต้องเข้าไปเรียนอีก 4 ปีกับคณะนี้สาขานี้ ถ้าเลือกมหาวิทยาลัยที่โด่งดังแต่คณะที่มีคะแนนต่ำ เข้าไปแม้ได้อยู่ในสภาพแวดล้อม สถานที่ที่ชอบ มีคนชื่นชมในสถาบันแต่สุดท้ายไม่ชอบวิชาที่เรียนเอามากๆก็อาจจะเรียนไม่จบจนต้องไทร์ออกมาได้ซึ่งพี่เห็นมาเยอะมากสำหรับเพื่อนๆพี่ที่เลือกมหาลัยไว้ก่อน คนรีไทร์ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่เตือนไว้สำหรับน้องๆที่ไม่อยากเสียเวลาไปอ่านหนังสือใหม่เข้าสู่วงจรการสอบแอดมิดชันอีกรอบที่ต้องอ่านหนังสือเตรียมตัวเป็นเดือนเป็นปี โดยเสียเวลาไปกับการเลือกที่ผิดพลาดเพียงครั้งเดียว อีกอย่างพี่เชื่อว่า การที่เราได้เรียน ได้ทำสิ่งที่เราชอบแม้ไม่ใช่ในมหาวิทยาลัยในฝัน เราก็มักจะทำได้ดีโดยที่ไม่ต้องฝืนใจทำ และถ้าเราชอบแล้วทำได้ดีจริงไม่ว่าจบจากที่ไหนก็มีงานที่ดีทำได้ทั้งนั้น หรือถ้ายังติดใจกับเรื่องมหาวิทยาลัยมากๆก็สามารถไปเรียนต่อปริญญาโทได้อีก  ดังนั้น คิดก่อนเลือกให้ดีๆ แต่นี่ก็เป็นเพียงคำแนะนำเท่านั้นสุดท้ายน้องๆก็ต้องชั่งใจเอาเองนะครับ  เป็นกำลังใจให้ทุกคนครับ :D

สรุป การเตรียมตัวสอบเข้าได้เป็นข้อๆ ดังนี้
1.   จำกัดคณะ สาขาวิชา  มหาวิทยาลัย ที่อยากเข้ามาก่อนว่าอยากเรียนอะไรบ้าง สายไหนวิทย์หรือศิลป์ เพื่อที่จะได้เตรียมตัวอ่านถูกและเน้นวิชาที่ต้องใช้สอบได้อย่างตรงจุด ไม่เสียเวลากับวิชาที่ไม่ใช้สอบ ถ้าเป็นไปได้อย่างช้าที่สุดคือ ม.5 เทอม 2
2.   อ่านวิชาเหล่านั้นซ้ำๆวนไปวนมา แม้จะจำได้เข้าใจแล้ว ก็ควรอ่านให้ขึ้นใจ ทำข้อสอบ โจทย์เยอะๆเพราะอ่านเนื้อหาอย่างเดียวลืมได้ แต่เมื่อทำข้อสอบไปแล้วจะทำให้เข้าใจได้แจ่มชัดขึ้นและจำได้ง่ายขึ้นด้วย
3.   แบ่งเวลาในการอ่านแต่ละวิชาให้ดี วิชาไหนชำนาญแล้ว ก็ไปเสริมวิชาที่อ่อนด้อยอยู่ ถ้าทำได้จนอยู่ในระดับมาตรฐานปานกลางแล้ว มีเวลาเหลือก็ไปเน้นวิชาที่ชำนาญเพื่อทำคะแนน
4.   ระหว่างที่เรียนม.ปลาย ควรทำเกรดให้ดีเพราะมีผลต่อการคิดคะแนน เกรดดีมีชัยไปหลายคะแนนแล้ว เวลาคะแนนขาดไปไม่กี่คะแนนจะได้ไม่มาเสียดายทีหลังว่าถ้าเกรดดีกว่านี้ก็สอบติดไปแล้ว
5.   การเลือกคณะเลือกสาขาที่เราชอบ เราอยากเรียน พอรู้แนวทางการเรียนจากพี่ๆอาจารย์มาบ้าง ว่าเข้าไปแล้วเราสามารถเรียนได้  เรียนอย่างไรบ้าง แม้อาจจะต้องพยายามบ้างแต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถ ไม่ถึงกับต้องไปเริ่มใหม่หมด ผืนใจเกินไป  และ สำหรับน้องๆที่อาจจะโดนอิทธิพลของผู้ปกครองในการเลือกคณะ ถ้าเป็นคณะที่เราพอเรียนได้หรือชอบด้วยอยู่แล้วก็ไม่มีปัญหาอะไรแต่ถ้าเป็นคณะที่เราไม่ชอบและไม่อยากเรียนเลย  ก็อยากให้ลองคุยกับผู้ปกครองดูนะครับ เพราะคนที่ไปเรียนคือตัวน้องเองไม่ใช่ผู้ปกครอง และน้องต้องเรียนอีกอย่างน้อย 4-6 ปีกับคณะนั้นโดยที่ไม่มีความสุข ถ้าจบก็อาจต้องทำงานกับสายนั้นต่อไปอีก ถ้าไม่ไหวก็อาจจะต้องรีไทร์เข้ากลางคันเสียเวลาอีกเป็นปีๆ อีกอย่าง พี่เชื่อว่าผู้ปกครองทุกคนก็รักบุตรหลานของตนอยู่แล้วถ้าเราอธิบายด้วยเหตุผลดีๆไม่ใช้อารมณ์และเราคิดดีแล้ว วางแผนดีแล้ว ท่านก็คงจะฟังเราบ้างอยู่แล้วครับ สู้ๆ
6.   ดูคะแนนสูงสุดต่ำสุดให้ดีๆ เลือกอันดับให้ดีๆอย่าสลับกัน คณะที่อยากเข้ามากสุด+คะแนนสูงสุดไว้บนสุดแล้วค่อยๆลดหลั่นลงมา แต่อันดับสุดท้ายต้องเป็นคณะที่ติดชัวร์ 100% และไม่ฝืนใจที่จะเรียนจนเกินไป ประมาณตนเองให้ดีๆอย่าเข้าข้างหรือดูถูกตัวเองจนเกินไป
สุดท้ายก็เอาใจช่วยน้องๆม.4 5 6 ทุกคนนะครับ!
Part ต่อไปคือ เมื่อเข้าไปเรียนในธรรมศาสตร์แล้ว
และบรรยากาศของการเรียนคณะนิติศาสตร์
แนวทางวางแผนการเรียนต่างๆที่ควรรู้ไว้แต่ต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น