เบลเยียม สวรรค์แห่งช็อกโกแลต ตอนที่1 เยือนกรุงบรัสเซล แดนสวรรค์ของผู้หลงใหลช็อกโกแลต ไม่ว่าจะเดินไปไหนต้องเจอะกับช็อกโกแลตหน้าตาชวนน้ำลายย้อย
เบลเยียม สวรรค์แห่งช็อกโกแลต เยือน บรัสเซล
หากเอ่ยถึงประเทศเบลเยียม คงเป็นแดนสวรรค์แห่งผู้ที่หลงใหลช็อกโกแลตเป็นอย่างมาก เพราะทั้งประเทศไม่ว่าจะเดินไปตามตรอกซอกซอยไหน เป็นอันต้องเจอะกับร้านขายช็อกโกแลตที่หน้าตาสวยงามชวนน้ำลายย้อย เนื่องจากประเทศเบลเยียมนั้นเลื่องชื่อในด้านของการผลิตช็อกโกแลตรสเลิศ แถมรูปลักษณ์นั้นสุดแสนจะน่าหม่ำ
ประเทศเบลเยียม หรือ ราชอาณาจักรเบลเยียม ตั้งอยู่ในทวีปยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือ มีกรุงบรัสเซลส์เป็นเมืองหลวง เบลเยียมมีอาณาเขตติดกับประเทศ เนเธอร์แลนด์ เยอรมันนี ลักเซมเบิร์ก และฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางด้านภาษาเป็นอย่างมาก ประชากรส่วนใหญ่พูดภาษาดัตช์ ฝรั่งเศส และเยอรมัน ซึ่งจะมีการแบ่งเขตของการใช้ภาษาอย่างชัดเจนเช่น ภาษาดัตช์จะใช้กันทั่วไปทางตอนเหนือ ภาษาฝรั่งเศสจะใช้กันทางตอนใต้ และภาษาเยอรมันใช้กันทางตะวันออก
ส่วนภาษาที่ใช้อย่างเป็นทางการนั้นใช้ได้ทั้งสองภาษา คือ ดัตช์ และฝรั่งเศส สถานที่ท่องเที่ยวในเบลเยียมนั้นมีมากมาย อีกทั้งยังเป็นแดนแห่งศิลปินที่มีศิลปะและสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่น่าสนใจไม่ น้อยหน้าชาติใดในยุโรปอีกด้วย
Brussels หรือ Bruxelle (กรุงบรัสเซล) เป็นเมืองหลวงของประเทศเบลเยียมที่มีขนาดไม่ใหญ่โตอะไรมากมาย แต่เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1,000 ปี อีกทั้งเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการที่มีความสำคัญของสหภาพยุโรป อย่างเช่น สำนักงานใหญ่ของสหภาพยุโรป (EU) และองค์การ Nato ซึ่งในแต่ละปี มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกหลั่งใหลไปเยือนเมืองหลวงแห่งนี้เป็นจำนวนมาก
อาคารบ้านเรือนดูสวยเรียบร้อยเป็นระเบียบ เหมือนมีการจัดการวางแผนไว้ก่อนการปลูกสร้าง ศูนย์กลางของเมืองที่มีความคึกคักเห็นจะอยู่ที่ จัตุรัสกรองค์ปลาซ
Grand Palace หรือ Grong Plas (แกรนด์ พาเลส หรือ ออกสำเนียงตามชาวเบลเยียมว่า “กรองค์ปลาซ”) เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตของกรุงบรัสเซล ที่เหล่าบรรดานักท่องเที่ยวต้องมาเยือน
เสเน่ห์ของจัตุรัสแห่งนี้ อยู่ที่ตึกโบราณสไตล์ผสมระหว่างบาร็อกกอธิค และนิโอกอธิค โอบกอดลานกว้างแห่งนี้ไว้ทั้งสี่ด้าน ความงามของสถาปัตยกรรมโบราณ ที่มีความวิจิตรอ่อนช้อยในทุกรายละเอียด ทำให้ทึ่งจนเกือบหยุดหายใจ พลันคิดไปว่า โอ้แม่เจ้า… สถาปนิกในสมัยโบราณนี่ช่างเป็นอัจฉริยะบุคคล ควรค่าแก่การยกย่องจริงๆ แล้วศรรักก็ปักทะลุกลางอกในทันที
เค้าว่ากันว่า หากมา กรุงบรัสเซล แล้วสิ่งที่ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง ก็คือ ไปดูเด็กยืนฉี่ ไอ้เราก็เอ๊ะ…เด็กจะฉี่ก็ช่างเด็ก ทำไมต้องไปดูด้วย แต่…เอาก็เอา มาแล้วนี่ เดี๋ยวจะตอบเค้าไม่ถูกว่าฉี่ท่าไหน เลยเดินไปดูกับเค้าบ้าง อืม…น้ำพุนี่นา
Manneken Pis (แมนเนคิน พิส) คือ น้ำพุเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ตรงหัวมุมตึกร้านขายช็อกโกแลต มีรูปปั้นทองแดงของเด็กผู้ชายกำลังยืนฉี่ พ่นเป็นสายน้ำพุออกมา หน้าตาสบายอกสบายใจ ตำนานมีอยู่ว่า เมื่อครั้งที่กรุงบรัสเซลยังตกอยู่ในการทำสงคราม และถูกฝ่ายตรงข้ามแอบนำระเบิดมาวางไว้ที่กำแพงเมือง เพื่อการโจมตี แต่มีเด็กน้อยนามว่า จูเลียนสกี (Julianske) ไปพบสายชนวนระเบิดที่กำลังติดไฟ จึงปัสสาวะรดซะเลย ทำให้สามารถป้องกันเมืองบรัสเซลทั้งเมืองไว้ได้ ชาวเมืองจึงแกะสลักรูปปั้นไว้ เพื่อเป็นตัวแทนในการยกย่องและระลึกถึงความกล้าหาญ
ประติมากรรมชิ้นแรกเริ่มนั้น แกะสลักจากหิน ในศตวรรษที่ 14 แต่ได้ถูกขโมยไปหลายครั้ง จึงทำการสร้างใหม่ ในปัจจุบันหล่อโดยช่างหล่อชาวฝรั่งเศส นามว่า เจอโรม ดูเกสนอย และ นำมาติดตั้งประมาณปี ค.ศ.1618 ที่นี่จึงเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญแห่งหนึ่ง ของประเทศเบลเยียมเลยทีเดียว อืม…แปลกดีแฮะ แต่ก็น่ารักดี
ยืนดูเจ้าหนูน้อยจูเลียนสกีจนหนำใจแล้วต้องรีบเคลื่อนทับก่อนที่จะเริ่ม รู้สึกปวดตาม มุ่งหน้าสู่อีกสถานที่หนึ่งที่เปรียบเสมือนเป็นแลนมาร์กของกรุงบรัสเซล
Atomium (อะโตเมียม) สถาปัตยกรรมลูกเหล็กทรงกลม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์รูปโครงสร้างอะตอมที่ขยายขนาดใหญ่หลายล้านเท่า ที่ถูกสร้างขึ้นเป็นหอแสดงนิทรรศการงาน Expo ในปีค.ศ. 1958 มีความสูงราว 108 เมตร ประกอบด้วยลูกบอลเหล็ก 9 ลูก น้ำหนัก 2,400 ตัน โดยเชื่อมต่อลูกเหล็กแต่ละลูกด้วยท่อเหล็กขนาดใหญ่ ลูกบอลแต่ละลูกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 18 เมตร ภายในทางเดินเป็นบันไดเลื่อนที่มีความทันสมัย มีจุดชมวิว ห้องอาหาร และห้องแสดงงานศิลปะหมุนเวียน
อะโตเมียม เป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายในเชิงคุณค่าของการก้าวกระโดด สู่ยุคเทคโนโลยีใหม่หลังสงครามโลกของประเทศเบลเยียม รัฐบาลได้บูรณะใหม่ทั้งภายนอก และภายในเมื่อปีค.ศ. 2003 นี่เอง และได้มีงานฉลองอายุครบ 50 ปี ไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
หลังจากตะลอนทัวร์จนฉ่ำปอดที่ กรุงบรัสเซล ขอพักเอาแรงสักงีบก่อนเดินทางต่อ เมืองบรูจจ์ จะสวยงามแค่ไหน แล้วเราจะตกหลุมรักอีกหรือไม่ ต้องตามต่อกันในตอนที่สอง…
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น