วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2558

10 ข้อผิดทางไวยากรณ์ฝรั่งเศสง่ายๆที่ควรจะแก้ไข (10 erreurs grammaticales fréquentes faciles à corriger)

10 ข้อผิดทางไวยากรณ์ฝรั่งเศสง่ายๆที่ควรจะแก้ไข (10 erreurs grammaticales fréquentes faciles à corriger)

วันนี้นั่งเล่นคอมเรื่อยเปื่อย เลยเปิดอ่านบทความฝรั่งเศสแก้เบื่อ เลยมาเจอกับบทความที่มีชื่อว่า
10 Erreurs Grammaticales Fréquentes Faciles à Corriger
หรือแปลไทยได้ว่า “10 ข้อผิดทางไวยากรณ์ง่ายๆที่ควรจะแก้ไข”
พอได้อ่านสแกนแบบคร่าวๆแล้วพบว่า เห้ย แต่ละข้อนี่มันเป็นข้อที่เวลาเราสอนหนังสือเด็กๆแล้วเราเจอคำถามพวกนี้อยู่ตลอดเวลา กฎเกณฑ์ทางด้านไวยากรณ์เล็กๆน้อยๆของภาษาฝรั่งเศส ดูเหมือนจะมีไม่เยอะ แต่พอมันมีขึ้นมาแล้วจำผิด ก็จะซวยล้มเป็นโดมิโน่ แล้วอีกอย่างนะแต่ละ 10 ข้อที่อ่านผ่านๆตามา ชอบออกข้อสอบ PAT ด้วยเหอะ เพราะว่าข้อสอบสมัยนี้ชอบออกมาวัดไหวพริบเด็กๆ เอาล่ะ เรามาดูกันเลยดีกว่า ว่ามีอะไรบ้าง
Paris Option 3lll

ข้อที่ 1 : เสียงที่เหมือนกันระหว่าง a และ à (Homophones “A” et “À”)

สิ่งที่มันคลาสสิกมากที่สุด มากถึงมากที่สุด และยังคงเป็นปัญหาโลกแตกของเด็กที่เรียนภาษาฝรั่งเศสทุกคนคือเสียงที่ออกเหมือนกันเนี่ยแหละ และตัวที่มีปัญหามากที่สุดเลยก็คือ a และ à เพราะว่าสองตัวนี้ ออกเสียง อา/อะ เหมือนกัน แต่ความหมายมันไม่เหมือนกันนะเห้ย เรามาดูกันง่ายๆ
  • A = ไม่มี accent อยู่ข้างบน อยู่แบบโดดเดี่ยว มันคือกริยา avoir ที่แปลว่า to have ที่เราเรียนกันตั้งแต่สัปดาห์ที่สองของการเรียนภาษาฝรั่งเศสแล้ว โดยตัว a เนี่ย มันผันมาจากประธานบุรุษที่ 3 เอกพจน์ (Il/Elle/On) นั่นแหละ ตัวอย่างก็เช่น “Pierre a deux enfants. = ปิแยร์มีลูกชายสองคน”
  • À = มี accent grave อยู่ข้างบน จริงๆแล้วมันอ่านออกเสียงสั้นกว่าตัวแรกนะ มันจะอ่านออกเสียง /อะ/ หรือ /อ้ะ/ ก็ได้ แล้วแต่ความชอบส่วนบุคคลของผู้พูด แต่อย่างไรก็ตาม เจ้า à ตัวนี้ทำหน้าที่เป็น préposition นะเห้ยย มีความหมายเหมือน to ในภาษาอังกฤษนั่นแหละ ตัวอย่างก็เช่น “Je vais à la bibliothèque = ฉันไปห้องสมุด”

ข้อที่ 2 : ลงท้าย -er หรือ -é  ล่ะ ? (Terminaisons -er ou -é ?)

ข้อนี้ก็จี้เหมือนกันเวลาเราสอนหนังสือ แล้วมันจะมีโจทย์บางข้อที่เราต้องบอก verbe อ่ะ เนื่องด้วยการลงท้ายของ –er ซึ่งเป็นรูปของ infinitif และลงท้ายด้วย -é ที่อยู่ในรูปของ participe passé ก็จะเขียนผิดตลอด จนเราต้องบอกนะว่ามันอยู่ในรูปไหน เป็น infinitif ไม่ผัน หรือ participe passé ลงท้าย -é อย่างนี้กันแน่ ถ้าหากว่ายังไม่เข้าใจ บทความเขาบอกไว้ว่า ให้เทียบกันกับกริยากลุ่มที่ลงท้ายด้วยพวก -re ในนี้จะยกตัวอย่างเป็น vendre แปลว่าขาย ละกัน มาดูกันเหอะ
  • vendre ตัวนี้อยู่ในรูปของ infinitif และเทียบกันกับกลุ่มที่ลงท้าย -er  ก็เช่น acheter ซื้อ
  • vendu เป็น participe passé ของ v.vendre และเทียบกับกลุ่มลงท้าย -er ก็เป็น acheté เกทไหม?
ถ้าเราลองเอามา mélanger ผสมรวมกันเป็นประโยคที่สุดแสนจะซิมเปิ้ล ก็คงจะเป็นแบบนี้
Somchai est allé à un boutique pour acheter cette lampe
สมชายไปที่ร้านร้านหนึ่งเพื่อซื้อโคมไฟ
โอเคมันออกเสียง เอ้ ลงท้ายเหมือนกัน แต่ก็จงเข้าใจหน่อยนะว่า 2 คำที่เน้นให้ดูมันทำหน้าที่ต่างกันนะ
แต่บางคนก็เขียนมาเป็นในรูปของ présent บุรุษที่ 2 พหูพจน์ เช่น acheter ก็เป็น achetez โอเค ออกเสียง เอ้ เหมือนกัน แต่ถ้าหากว่ามันไม่มีประธานบอกว่าเป็น vous ก็ไม่ต้องใส่มานะ

3. Adverbes ลงท้าย -MENT, มี M กี่ตัว ?

อ่ะ ท้าวความง่ายๆก่อนว่าการสร้างคำกริยาวิเศษณ์ หรือที่เรียกกันว่า adverbe เนี่ย มีหลักง่ายที่แสนจะง่ายคือการเอาคำ adjectif มาก่อน แล้วเปลี่ยนให้เป็นรูปเพศหญิงเอกพจน์ แล้วเติม -ment ลงท้ายไปเลยง่ายๆ นั่นคือหลักการณ์นั้น ซึ่งหมายความว่ามันมีตัว M ตัวเดียวเท่านั้น เช่น jaloux เปลี่ยนให้เป็น jalouse และเติมหางไปเป็น jalousement ง่ายนี่เดียว
แต่อย่างไรก็ตาม ภาษาฝรั่งเศสมันมีสิ่งที่ผีบ้าผีบอมากกว่านั้นคือ ถ้าหากว่า adjectif ที่ลงท้าย -ant และ -ent มันจะต้องตัดหางพวกนี้ออกก่อนแล้วเติมหางของมันไปก็คือ -amment และ -emment ดังนี้
คำว่า récent ลงท้ายด้วย -ent ใช่มะ อ่ะตัดออกก่อน ให้เหลือ réc แล้วเติม -emment ลงไปเป็น récemment 
คำว่า intéressant ลงท้ายด้วย -ant อะตัดออกก่อน ให้เหลือ intéress แล้วเติม -amment ลงไปเป็น intéressamment 
สรุปได้ว่า ถ้าหากเป็น adj ลงท้ายด้วย -ent และ -ant จะเกิด adverbe ที่มี M จำนวน 2 ตัว จบ !
ส่วนกฎเกณฑ์อื่นๆเกี่ยวกับ adverbe มีมั้ย มีแน่นอน แต่บทความนี้ขอโฟกัสแค่เรื่องจำนวนตัว M ขอผ่านคับ mdr

4. กฎการเขียนตัวเลข (Les Règles des Nombres)

กฎการเขียนตัวเลขในภาษาฝรั่งเศสนั้น เป็นเรื่องที่โคตรแสนจะ compliqué มากพอสมควรสำหรับน้องๆที่เพิ่งทำความเข้าใจ คือบอกก่อนเลยว่าตัวเลขที่เราเรียนกันมานั้น มันก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรอก มีแค่ 2 ตัวหลักๆที่มันจะมีกฎผีบ้าผีบอเพิ่มขึ้นมาคือ vingt (ยี่สิบ) และ cent (ร้อย) นั่นเอง
VINGT ยี่สิบ
กฎเกณฑ์ไม่มีอะไรเลย ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรอก จนกระทั่งถึงเลข 80 ซึ่งในภาษาฝรั่งเศสเขียนว่า quatre-vingts แล้วทำไมถึงต้องเติม -s ? ก็เพราะว่ายี่สิบมันมีทั้งหมด 4 ตัว ก็เป็น 20 x 4 = 80 ยังไงล่ะ แต่อย่างไรก็ตาม มันจะใช้กฎนี้ถ้าเป็นเลขถ้วนเท่านั้น ถ้าหากว่ามีหลักหน่วยเมื่อไร ไม่มีการเติม -s ทันที เช่น quatre-vingt-neuf (89) หรือ quatre-vingt-quinze (95)
CENT หลักร้อย
อันนี้ค่อยข้างจะไม่ค่อยแสนจะงงเท่าไร แต่พอมันมาให้งงละก็มึนติ้บล้มเป็นโดมิโน่เลยทีเดียว หลักง่ายๆมีดังนี้
  • cent เฉยๆ แปลว่า 100 โอเคไม่มีการเติม -s
  • หลักร้อยถ้วน เช่น 200, 500, 700 จะต้องเติม -s เป็น deux cents, cinq cents, sept cents
  • หลักร้อยไม่ถ้วน มีเลขต่ออีก เช่น 222, 560, 815 แบบนี้ห้ามเติม -s เป็น deux cent vingt-deux, cinq cent soixante, huit cent quinze
เป็นยังไง ไม่งง ใช่มั้ย?
นอกจากนี้ ยังมีกฎเล็กๆน้อยๆมาให้อ่านกันพอเข้าใจ เช่น
  • เลขที่น้อยกว่า 100 แล้วถูกฟอร์มขึ้นด้วยจาก 2 ตัว จะมีขีดกลางด้วย เช่น vingt-cinq
  • เลขหลักหน่วยที่เป็น 1 จะไม่มีการใส่ขีดกลาง เช่น vingt et un
  • Mille (พัน) ไม่มีการเติม -s ไม่ว่าจะถ้วนหรือไม่ถ้วนหรือจะยังไงก็ตาม ยกเว้นว่าจะเป็นการบอกมาตราวัดความยาว
  • Million และ milliard จะต้องเติม -s ด้วยเนื่องจากมันเป็นคำนาม

5. กริยารูป Passé Simple (Les Verbes au Passé Simple)

เมื่อพูดถึง temps นี้ หลายๆคนมักจะเติมเครื่องหมาย question mark ติดอยู่กลางหัวอันเป็นแน่แท้ เนื่องจากว่า temps ตัวนี้เราไม่ค่อยได้เจอ ไม่สิ ไม่เคยเจอและไม่เคยได้เรียนเลยต่างหาก เนื่องจาก passé simple ถือว่าเป็น temps ที่ใช้พูดและเล่าเรื่องเหตุการณ์ในอดีตที่โคตรจะแสนอดีตชิบหายวายป่วง และเนื่องจากมีการผันที่ผิดมนุษย์มนา จึงทำให้เราไม่ต้องเรียนกัน แต่ก็อยากให้รู้ไว้ว่า เมื่อเจอ กริยารูปแบบนี้เมื่อไหร่ ให้รู้ว่าเป็น Passé Simple นะเอ้อออออออ
วิธีการผันกริยาในรูปของ Passé Simple
1. กลุ่มหนึ่ง ให้ตัด -ER ออกแล้วเติมท้ายดังนี้ : -ai, -as, -a, -âmes, -âtes, -èrent
เช่น monter > je montai, tu montas, il monta, nous montâmes, vous montâtes, ils montèrent
2. กลุ่มสอง (ทั้งกลุ่ม 2 ลงท้าย IR และกลุ่ม 3 บางตัว) ให้ตัดหางออก แล้วเติมท้ายดังนี้ : -is, -is, -it, îmes, îtes, irent เช่น finir > je finis, tu finis, il finit, nous finîmes, vous finîtes, ils finirent
3. กลุ่มสาม ให้ตัดหางออก (-ir, -oir, -re) แล้วเติมท้ายดังนี้ : -us, -us, -ut, -ûmes, -ûtes, -urent
เช่น courir > je courus, tu courus, il courut, nous courûmes, vous courûtes, ils coururent
4. กริยา venir, tenir และพวกกริยาที่ใช้รากดังกล่าว เช่น soutenir, prévenir ให้ตัด -enir ออกแล้วเติม : -ins, -ins, -int, înmens, întes, inrent ตัวอย่างเช่น venir > je vins, tu vins, il vint, nous vînmes, vous vîntes, ils vîntes
จากบทความต้นฉบับเขาบอกไว้ว่า การที่เราจะรู้ได้ว่า กริยาตัวไหนใช้รากอะไร ให้สังเกตที่หางของ infinif ของตัวกริยานั้นๆ นั่นเอง แล้วการผัน passé simple ก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายทันที !
แต่เอาจริงๆ ไม่ต้องไปจำมันหรอก ขอแค่เรารู้ว่าเวลาไปเจอในข้อสอบแล้วถ้าเราเจอแบบนี้ก็ให้รู้ว่ามันเป็น temps ที่ตายแล้ว ปาสเซ่ แซมปล์

6. กฏการใช้ adjectif บอกสี (Règle d’Orthographe des Adjectifs de Couleur)

ก่อนอื่นเลยเนี่ยนะ ต้องเกริ่นก่อนว่า adjectif หรือคำคุณศัพท์ที่บอกสี ที่มีขยายเพิ่ม เช่น ม่วงอ่อน เขียวเข้ม น้ำเงินเข้ม บลาๆ จะไม่มีการ accord ตามเพศและพจน์ของคำนามใดๆทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น
Il a des yeux brun clair = เขามีตาสีน้ำตาลอ่อน
และที่เหลือ พวกคำคุณศัพท์ที่บอกสี เดี่ยวๆ มีการ accord ทุกอย่าง ยกเว้นเสียแต่ว่าสีนั้น จะเป็นคำที่สร้างจากคำนาม เรามาดูข้อแตกต่างกันด้านล่าง
Il a mis sa chemise bleue = เขาใส่เสื้อสีน้ำเงิน
ตัวอย่างนี้มีการ accord แน่นอนล่ะ เพราะเป็นสีแบบธรรมดาที่เราท่องกันตามหนังสือ พวก สีเขียว สีม่วง สีเหลือง สีแดง
Il a mis sa chemise marron = เขาใส่เสื้อสีน้ำตาลเกาลัด
ตัวอย่างนี้ ทำไมถึงไม่มีการ accord ตรงคำว่า marron ? ก็เพราะว่า marron เป็นสีที่ถูกสร้างจากคำนาม ซึ่งจริงๆแล้วคำว่า marron มันแปลว่าถั่วเกาลัดอะ ดังนั้นก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง
และยังมีอีก 5 adjectifs ที่บอกสี ที่ถูกสร้างมาจากคำนาม คือ rose (ชมพู), mauve, (ม่วงอ่อน), pourpre (แดงเลือดหมู), écarlate (แดงเลือดสด), fauve (น้ำตาล แบบสีหนัง)

7. Adjectif หรือ Adverbe ? (Est-ce un adjectif ou un Adverbe?)

ในบางประโยค บางทีเราก็จะแยกออกยากอยู่เหมือนกันว่าเห้ย คำไหนเป็น adjectif หรือว่าคำไหนเป็น adverbe อย่างประโยคตัวอย่างจากต้นฉบับเขาบอกว่า
Cette personne est fort gentille
คำว่า fort เนี่ย ทำหน้าที่เป็น adverbe ซึ่งขยาย gentille อีกทีนึง และสามารถใช้คำว่า fortement แทนได้เช่นกัน ในขณะที่ gentille ทำหน้าที่เป็น adjectif สังเกตได้จากมีการ accord ตามประธานคือ personne นะ
Il invitera les plus gentilles personnes possible 
คำที่เน้นสีฟ้า possible ก็ถือว่าเป็น adverbe อยู่ดี เพราะว่า possible จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อทำเป็นรูป adverbe จ้ะ

8. Ca และ Sa (Ca et Sa)

อันนี้ก็ปัญหาเสียงเหมือนกันอีก แต่แตกต่างกันแน่นอน และส่วนใหญ่คนมักจะชอบเขียนผิดตลอด อธิบายสั้นๆ ง่ายๆ คือ
  • ça แปลว่า สิ่งนี้ สิ่งนั้น ทำหน้าที่เป็น pronom
  • sa แปลว่า ของเขา ของหล่อน ทำหน้าที่เป็น article possessif ของบุรุษที่สามเอกพจน์ เช่น sa voiture

9. Appeler มี L กี่ตัว ? (Le Verbe “Appeler”, Combien de “L”?)

ให้อธิบายง่ายๆเลยว่า v.appeler ใน temps Présent จะมีการดับเบิ้ลตัว L ตลอด ยกเว้น nous กับ vous ที่จะมีแค่ L ตัวเดียวเท่านั้น แต่ถ้าหากว่าหลังตัว L ไม่มีตัว e muet เราจะลดเหลือแค่ตัวเดียว อย่างเช่นใน temps Passé Simple คือ Il appela

10. Futur และ Conditionnel (Futur et Conditionnel)

อันนี้ก็เป็นปัญหาโลกแตกเช่นเดียวกัน เนื่องจากมันออกเสียงคล้ายกัน แม้ว่าการเขียนเนี่ยก็ไม่ได้คล้ายอะไรมากนัก แต่ก็ยังมีคนเข้าใจผิดอยู่ดี โดยเฉพาะในรูปของ JE ซึ่งมันต่างกันแค่ตัว -s ตัวเดียวเท่านั้น
  • รูป Futur : Je me souviendrai de lui = ฉันจะจำเขาได้
  • รูป Conditionnel : Je me souviendrais de lui = ฉันน่าจะจำเขาได้
หรือจะจำง่ายๆคือ Conditionnel คือ Infinitif + หางของ Imparfait อย่างนี้ก็น่าจะทำให้ช่วยให้หายงงได้อยู่นะ

.
จบไปแล้วสำหรับบทความนี้ที่ได้เลือกมาแปลให้อ่านกัน หวังว่าจะให้ทุกคนที่เรียนภาษาฝรั่งเศสเข้าใจมากขึ้นและไม่งงอีกต่อไปนะครับ หากว่ามีบทความอะไรน่าสนใจ จะนำมาแปลและอธิบายให้อ่านอีกนะครับ
โจม
Cet article a été traduit en version thaïe et adapté par celui d’original – http://motadits.com/grammaire/erreurs-grammaire-corriger/
Merci beaucoup :)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น