ค่านิยมอันทรงคุณค่าฝังลึกในสังคมเอเชีย ถ่ายทอดมายังคนแต่ละรุ่นจากอดีตถึงปัจจุบันนับเป็นพันๆ ปี คือเรื่อง ความกตัญญู ค่านิยมดังกล่าวอยู่ในคำสอนของทุกศาสนา ผู้ใดก็ตามถ้าขาดคุณธรรมดังกล่าว ผมคิดว่าผู้นั้นเกิดมาเสียชาติเกิด เราคงได้ยินคำพูดที่ว่า “บุคคลที่ไม่รู้จักคุณคน เขาไม่ใช่คน” แม้คำกล่าวนี้จะฟังดูแล้วรุนแรง แต่ผมว่าเป็นคำพูดที่ถูกต้อง
ความกตัญญู หมายถึง การรู้คุณท่าน รู้อุปการะที่ท่านทำให้ ท่านที่พูดถึงคือคนที่ทำดีและช่วยอุปถัมภ์ต่อผู้ด้อยโอกาสหรือขาดโอกาส บุคคลที่สำคัญสุดซึ่งทุกคนควรรู้คุณท่านคือ พ่อแม่หรือผู้อุปการะเลี้ยงดูเรามา
คำว่า กตัญญู จะตามด้วยคำว่า กตเวที ซึ่งหมายความว่า สนองคุณท่าน ความรู้หรือตระหนักรู้ในคุณของพ่อแม่หรือผู้อุปการะคุณทั้งหลายเพียงอย่างเดียวแต่ไม่ทำอะไรเลย ถือว่าผู้นั้นเป็นคนที่ไม่ปกติ ผมว่าสู้ไม่รู้ในคุณท่านเสียเลยก็จะดีกว่าที่รู้แล้วไม่ทำอะไร แต่สิ่งที่แย่กว่านั้นคือ คนอกตัญญูและคนเนรคุณ บุคคลชนิดนี้นอกจากจะไม่สนองคุณท่านด้วยคุณงามความดีทำให้ท่านชื่นใจแล้ว พวกเขานำเอาความเดือดร้อน สร้างปัญหา และเบียดเบียนผู้มีพระคุณ บางรายร้ายมากถึงกับทำร้ายร่างกายและผลาญทรัพย์สมบัติที่ท่านเหล่านี้สะสมมาทั้งชีวิต
ประเทศไทยของเราได้กำหนดวันสงกรานต์ วันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี เป็นวันหยุด นอกจากจะเป็นวันเฉลิมฉลองวันปีใหม่ของไทยแล้ว รัฐบาลยังกำหนดให้เป็นวันครอบครัว เป็นวันที่ลูกๆ จะกลับไปเยี่ยมบ้าน เยี่ยมพ่อแม่ ครูอาจารย์ และผู้มีอุปการะคุณทั้งหลาย ในยุคที่ผมยังเป็นเด็ก ผมเห็นลูกหลานที่ออกไปทำงานต่างถิ่นจะกลับมากราบพ่อแม่ พร้อมกับนำเงินส่วนที่เก็บสะสมไว้ช่วงทำงานนั้นมามอบให้พ่อแม่ เป็นการแสดงความกตเวทิตา ภาพอันน่ารักเหล่านั้นยังคงฝังใจและอยู่ในจิตสำนึกของผมจนตราบเท่าทุกวันนี้ การแสดงความกตัญญูกตเวทิตา เราแสดงได้ทุกโอกาสไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะเทศกาลเท่านั้น แต่วันสงกรานต์ของทุกๆ ปี คงเป็นตัวกระตุ้นเตือนใจสำหรับผู้ที่ยุ่งอยู่กับเรื่องตัวเองจนลืมผู้มีพระคุณทั้งหลาย
ผมขออวยพรให้ทุกท่านจงมีความสุข ความเจริญก้าวหน้าเนื่องในเทศกาลปีใหม่ไทย และขอให้ทุกคนรื้อฟื้นจิตใจตนเองเรื่องความกตัญญู และจงแสดงกตเวทิตาด้วย เพราะนั่นจะทำให้ทั้งผู้ให้และผู้รับมีความสุขสมบูรณ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น